.jpg)
...พระครูประกาศิตธรรมคุณ หรือหลวงพ่อเพชร ฉายาว่า อินทโชติ ซึ่งแปลว่า “ ผู้รุ่งเรืองดุจพระอินทร์ ” อดีตเจ้าคณะอำเภอกาญจนดิษฐ์ และเจ้าอาวาสรูปแรกแห่งวัดวชิรประดิษฐ์ บ้านเฉงอะ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี นามเดิมว่าเพชร เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๗ ปี ฉลู พุทธศักราช ๒๓๙๕ ตรงกับรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นบุตรของ นายขาว และนางกิมล้วน แซ่ตั้น (ภายหลังเมื่อมีพระราชบัญญัตินามสกุล ท่านใช้นามสกุลว่า ยี่ขาว ) เกิดที่บ้านประตูไชยเหนือ ตำบลท่าวัง อำเภอกลางเมือง หรือ อำเภอเมืองในปัจจุบัน จังหวัดนครศรีธรรมราช ครั้นอายุได้ ๘ ปี ประมาณ พ.ศ.๒๔๐๓ บิดามารดาได้นำท่านไปฝากศึกษาเล่าเรียนหนังสือ (ในสมัยนั้นเรียกว่าเรียนอักขระ) อยู่ในสำนักของท่านพระครูการาม (จู) วัดมเหยงค์ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่จนอายุได้ ๑๓ ปีประมาณ พ.ศ. ๒๔๐๘ จึงลาอาจารย์ออกจากวัดมเหยงค์ไปอาศัยอยู่ที่บ้านพระศิริธรรมบริรักษ์ (ขั้น) เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ในขณะที่อาศัยอยู่กับท่านเจ้าเมืองท่านได้ผู้ช่วยกิจการของพระศิริธรรมบริรักษ์หลายอย่าง ที่โดดเด่นคือ การปราบกบฏจีนฮ่อในยุคสมัยนั้น จนกระทั่งอายุได้ ๓๐ ปี บิดา มารดาของท่านได้ถึงแก่กรรมหมด ท่านจึงออกจากบ้านของพระศิริธรรมบริรักษ์แล้วได้ประกอบอาชีพส่วนตัวอยู่ที่บ้านของตนอยู่ ๑๒ ปี และในระหว่างนี้เองท่านได้ถือโอกาสไปศึกษาเล่าเรียนกับท่านอาจารย์ทางไสยศาสตร์ในด้านการอยู่ยงคงกระพันและอื่นๆ
ในปี ๒๔๓๗ ขณะที่ท่านมีอายุได้ ๔๒ ปี ท่านเกิดความเบื่อหน่ายต่อชีวิตความเป็นอยู่ภายในบ้านจึงตัดสินใจออกเดินทางจากบ้านเพื่อจะไปเยี่ยมน้องชายซึ่งประกอบอาชีพอยู่ที่กรุงเทพมหานคร พอท่านเดินทางมาได้เพียงแค่ถึงบ้านดอน อำเภอเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็เกิดเจ็บป่วยลงอย่างกะทันหันจนไม่สามารถเดินทางต่อไปได้อีกจึงได้เข้าไปขอพักอาศัยและรักษาตัวอยู่กับพระอธิการแดง เจ้าอาวาสวัดไทร ได้รับการเยียวยารักษาจนกระทั่งหายป่วยเป็นปกติดีแล้วท่านก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสใคร่จะบวชในพระพุทธศาสนาจึงได้เปลี่ยนใจไม่ไปเยี่ยมน้องชายที่กรุงเทพฯและได้บรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ฝ่ายมหานิกายในเวลาต่อมาในปีนั้นเอง ท่านได้บรรพชาอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดกลาง บ้านดอน โดยมีพระครูสุวรรณรังษี (มี) เจ้าอาวาสวัดกลาง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระใบฎีกากล่อม วัดโพธาวาส เป็นพระอนุสาวนาจารย์ พระแดง เจ้าอาวาสวัดไทรบ้านดอน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า อินทโชติ ซึ่งแปลว่าผู้รุ่งเรืองดุจพระอินทร์ ( บางท่านกล่าวว่าได้รับฉายาว่า อินทโชโต )ได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยอยู่กับ พระแดง เจ้าอาวาสวัดไทร เป็นเวลาถึง ๒ พรรษา ในขณะที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดไทร บ้านดอน ท่านหลวงพ่อเพชรได้สร้างพระพุทธรูปสำหรับประจำไว้ที่วัด จำนวน ๓ องค์และได้ช่วยเหลือปรับปรุงพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองจนเป็นที่ประจักษ์แก่เหล่าพุทธบริษัทโดยทั่วไป
พ.ศ.๒๔๓๙ ชาวบางกุ้งทราบถึงกิตติศัพท์ในความรู้ความสามารถพร้อมทั้งจริยวัตรอันดีงามของท่าน จึงได้อารธนานิมนต์ท่านไปอยู่ที่วัดท่าทองใหม่ ตำบลบางกุ้ง อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในขณะที่ท่านประจำอยู่ที่วัดท่านได้พัฒนาปรับปรุงบูรณปฏิสังขรณ์สิ่งก่อสร้างที่ชำรุดภายในวัดทุกๆด้าน อาทิ สร้างพระพุทธรูปต่างๆ สร้างกุฎี วิหารและที่สำคัญคือสร้างอุโบสถและได้จัดการผูกพัทธสีมาในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ รวมเวลาที่ท่านประจำอยู่ที่วัดท่าทองใหม่เป็นเวลา ๓ พรรษา
ในครั้งนั้น
พ.ศ.๒๔๔๒ นายแก้ว รัตนมุสิก อดีตมัคนายกนางแย้ม ทะแก้ว อุบาสิกาพร้อมด้วยพุทธศาสนิกชนบ้านเฉงอะได้อาราธนานิมนต์หลวงพ่อเพชรมาอยู่ที่วัดดอนตะเคียนซึ่งขณะนั้นยังไม่มีฐานะเป็นวัด ( ก่อนนี้ชาวบ้านเรียกว่าวัดบ่อตะเคียน หรือวัดบ่อเคียน) ซึ่งปัจจุบันคือ วัดวชิรประดิษฐ์ ท่านเป็นพระนักพัฒนา ได้ทำการก่อสร้างกุฏิ ศาลาโรงธรรม โรงฉัน ฌาปนสถาน และอุโบสถ บูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะภายในวัดให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นโดยลำดับ จนเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสและนิยมยกย่องของชาวบ้านเป็นอันมาก
ในด้านการศึกษาท่านยังเป็นผู้ริเริ่มให้มีการเปิดสอนหนังสือไทยขึ้นโดยจัดให้บุตรหลานทั้งชายและหญิงของชาวบ้านเฉงอะ และบ้านใกล้เคียงได้เข้ารับการศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนวัดโดยท่านได้จัดให้ใช้กุฏิของวัดเป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนชั่วคราว จัดสร้างวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอนต่าง ๆที่จำเป็นให้อย่างครบชุด หลวงพ่อเพชรท่านยังเมตตาจัดหาพระภิกษุที่มีความรู้มาเป็นครูผู้สอน ซึ่งพระที่สอนนานที่สุดและเป็นที่รู้จักกันมาก คือพระกล่ำ ( คุณครูกล่ำ พัฑฒสุนทร )
พ.ศ.๒๔๔๘ ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาติให้มีฐานะเป็นวัดโดยถูกต้องตามกฎหมายโดยมีชื่อว่า “ วัดวชิรประดิษฐ์ ซึ่งหมายความว่าวัดที่ท่านหลวงพ่อเพชรเป็นผู้สร้างขึ้น ” ท่านได้ดำเนินการจัดการขอวิสุงคามสีมา ประกอบพิธีผูกพัทธสีมา และท่านยังได้รับการแต่งตั้งจากคณะสงฆ์ให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดวชิรประดิษฐ์รูปแรก และอุโบสถก็ได้สร้างสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยในปีเดียวกันนี้
พ.ศ.๒๔๕๐ ท่านได้สร้างอาคารเรียนถาวร และได้ขออนุญาตจัดตั้งเป็นโรงเรียนประชาบาล โดย เรียกอาคารเรียนหลังนี้ว่า “ โรงเรียนวชิราวิทยานุกูล ” เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ ท่านหลวงพ่อเพชร อินฺทโชติ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง โดยประกอบพิธีเปิดเรียน เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม
พ.ศ.๒๔๕๓ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ และตำแหน่งเจ้าคณะแขวงกาญจนดิษฐ์
พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูประกาศิตธรรมคุณ ( เพชร อินทโชติ )
พ.ศ.๒๔๗๗ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ท่านแก่ชราลงมากจนไม่สามารถเดินทางออกนอกสถานที่เพื่อประกอบศาสนกิจได้คณะสงฆ์ก็ได้ยกท่านเป็นกิตติมศักดิ์ และในปีเดียวกันนี้เองท่านได้สร้างพระพุทธรูป จำนวน ๑ องค์ ซึ่งหล่อขึ้นด้วยเงินเหรียญสยามเป็นเงินที่ใช้หล่อจำนวน ๒๔๗๗ บาท เท่าปี พ.ศ. ซึ่งเป็นพระคู่วัดมาจวบจนปัจจุบัน ชาวบ้านจะเรียกชื่อว่า
“ พระเงิน ” ซึ่งปัจจุบันได้ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ภายในพิพิธภัณฑ์ของวัดวชิรประดิษฐ์
พ.ศ.๒๔๗๙ ท่านได้บริจาคเงินสมบทกับรัฐบาลสร้างอาคารเรียน แบบ ค ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำอำเภอ สูง 2 ชั้น ขนาด ๔ ห้องเรียน โดยได้เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๘๐ ปัจจุบันคือ โรงเรียนวัดวชิรประดิษฐ์
บั้นปลายแห่งชีวิต ... ท่านอาพาธด้วยโรคชรามาตั้งแต่ปีก่อน ๆ อาการได้ทรุดหนักลงจนถึงกับลุกไปไหนไม่ได้ จนถึงกับฉันน้ำและอาหารไม่ได้ และท่านก็ได้มรณภาพลงด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๐เวลา ๑๓.๐๕ น.สิริรวมอายุได้ ๘๕ ปี ๔๒ พรรษา คณะศิษยานุศิษย์ได้จัดให้มีการบำเพ็ญกุศลศพเป็นเวลาถึง ๓ วันแล้วเก็บศพไว้บำเพ็ญกุศล ๗ วัน ๕๐ วัน และ ๑๐๐ วันตามประเพณีและได้จัดให้มีการสวดพระพุทธมนต์(สวดศพ)ทุกวันธรรมสวนะ(วันพระ) แล้วได้จัดให้มีการพระราชทานเพลิงศพในวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๔๘๑ ณ วัดวชิรประดิษฐ์
พ.ศ. ๒๕๕๖ วัดวชิรประดิษฐ์ ได้รับเลือกให้เป็นวัดพัฒนาดีเด่นตัวอย่างประจำปี ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยจะประกอบพิธีเปิดป้าย ในวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๘
*** วัดวชิรประดิษฐ์ ภายใต้การบริหารจัดการของ อาจารย์สมพร พัฑฒสุนทร ประธานและคณะกรรมการวัด ทุกท่านได้ ทุ่มเท ทั้งกายใจ สติปัญญา เสียสละเวลา และบริจาคทุนทรัพย์ เพื่อร่วมกันพัฒนาวัดอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย จะสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงของวัด ได้รับการยกย่องและได้รับเลือกให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง สมกับความมุ่งมั่นตั้งใจ เป็นเกียรติประวัติ และเป็นความภูมิใจของท้องถิ่น….บ้านเฉงอะ กาญจนดิษฐ์
ปรัชญาของวัดวชิรประดิษฐ์ “ ภูมิเว สปฺปุริสานํ กตญฺญูกตเวทิตา ”
...ความกตัญญูกตเวทีเป็นพื้นของคนดี...